เกี่ยวกับโครงการ

ศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยพะเยา
about

ความเป็นมา

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity) กล่าวคือ มีความหลากหลายทางพันธุกรรม และความหลากหลายในชนิดพันธุ์และความหลากหลายในระบบนิเวศน์ ซึ่งพรรณไม้ที่ศึกษาพบไม่ต่ำกว่า 12,000 ชนิด เฟิร์น 633 ชนิด และกล้วยไม้มากกว่า 1,000 ชนิดพบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น (สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ,2544)

มหาวิทยาลัยพะเยา ตั้งอยู่ที่บริเวณตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ประกอบด้วยที่ดินจำนวน 5,727 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย จำนวน 1,147 ไร่ และที่ป่าสงวน มีสภาพเป็นป่าเต็งรังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง ภายใต้การกำกับดูแลของกรมป่าไม้ จำนวน 4,580 ไร่ ซึ่งขณะนี้ได้รับอนุญาตให้มหาวิทยาลัยใช้ประโยชน์เรียบร้อยแล้ว ในอดีตตำบลแม่กาพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าไม้และพื้นที่เกษตรกรรม เมื่อมหาวิทยาลัยพะเยามีการเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2542 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกรรมไปเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของคนกับป่าไม้เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตามพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยพะเยา ยังคงมีสภาพเป็นป่าอยู่ โดยส่วนใหญ่จะเป็นป่าผลัดใบ ได้แก่ ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ แต่ในระยะยาวสภาพพื้นป่าดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพของการเติบโตของชุมชนโดยรอบ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของป่าไม้ควรมีการศึกษาถึงการอนุรกษ์พันธุกรรมพืช ณ พื้นที่มหาวิทยาลัยพะเยา ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีการประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพิจารณาวางแผนดำเนินงาน ในการอนุรักษ์พรรณพืช และศึกษาชีวภาพต่าง ๆ ในพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืช เพื่อสร้างฐานองค์ความรู้ทางวิทยาการที่จะนำไปสู่การอนรักษ์และพัฒนา

ทั้งนี้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยพะเยา ได้ร่วมสนองพระราชดำริในการดำเนินงานกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 เนื่องจากในปีงบประมาณ 2550 คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยพะเยาได้เข้าร่วมศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืชเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ในหัวข้อวิจัยต่าง ๆ เช่น คุณสมบัติทางกายภาพ และเคมีของดิน การหมุนเวียนของแร่ธาตุอาหารในดิน ความหลากหลายของเห็ดและการใช้ประโยชน์ คุณภาพน้ำสำหรับการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ ความหลากหลายของแพลงก์ตอนพืช ความหลากหลายของแมลงน้ำ ความหลากหลายของปลา ความหลากหลายของแมลงในอันดับโคลีออฟธีรา การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่และการจัดทำฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ ความหลากหลายของพืชกลุ่มเฟิร์น และในปีต่อมา คณะนักวิจัยได้กำหนดเป้าหมายพื้นที่ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ บริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัยพะเยาบริเวณตำบลแม่กา โดยได้ดำเนินงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

about

ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานสนองพระราชดำริฯ ของมหาวิทยาลัยพะเยาเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ได้จัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพของมหาวิทยาลัยพะเยาให้สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และแผนแม่บทระยะ 5 ปีที่หก (1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2564) ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานและการจัดสรรงบประมาณการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2559 – 2564 ต่อไป

กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร

กิจกรรมที่ ๑ กิจกรรมปกปักทรัพยากร
กิจกรรมที่ ๒ กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากร
กิจกรรมที่ ๓ กิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร

กรอบการใช้ประโยชน์

กิจกรรมที่ ๔ กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากร
กิจกรรมที่ ๕ กิจกรรมศูนย์ข้อมูลทรัพยากร
กิจกรรมที่ ๖ กิจกรรมวางแผนพัฒนาทรัพยากร

กรอบการสร้างจิตสำนึก

กิจกรรมที่ ๗ กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการ อนุรักษ์ทรัพยากร
กิจกรรมที่ ๘ กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร

เพื่อเป็นการดำเนินงานสนองพระราชดำริให้เป็นไปตามนโยบายของ อพ.สธ. ในกลุ่มมหาวิทยาลัย กลุ่ม G๕ กลุ่มมหาวิทยาลัยที่ร่วมสนองพระราชดำริ และกลุ่ม G๖ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งมีพันธกิจเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยท้องถิ่นกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยจะไปสัมพันธ์กับชุมชน โรงเรียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งจะมีการประสานงานและสนับสนุนการดำเนินงานในสถานศึกษาในการเป็นสมาชิกในงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และ อปท.ในการเป็นสมาชิกในงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น อพ.สธ. โดยใช้งานวิจัย และงานบริการวิชาการ ซึ่งเป็นพันธกิจของทางมหาวิทยาลัยโดยทุกคณะ –ภาควิชา สามารถดำเนินงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ.ได้โดยพิจารณาฐานของแต่ละคณะที่เชี่ยวชาญสาขาอะไร ก็สามารถใช้ความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ โดยใช้พื้นที่ชุมชนท้องถิ่นเป็นพื้นที่เป้าหมาย (area based) ในการจัดการเรียนการสอนเชิงปฏิบัติงานพื้นที่ชุมชนท้องถิ่น การรับปัญหาจากชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างโจทย์วิจัย และใช้กระบวนการวิจัยตอบโจทย์วิจัยให้กับชุมชนท้องถิ่นได้ งานบริการวิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนท้องถิ่น และ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นซึ่งงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ. สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน

ที่ผ่านมาทางสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนดนโยบายให้มหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายเชิงประเด็น อพ.สธ. ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (เครือข่าย C อพ.สธ. ของ สกอ.) เพื่อให้เกิดการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานสนองพระราชดำริได้อย่างคล่องตัว และเป็นไปตามเป้าหมายทาง อพ.สธ. ซึ่งมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยแม่ข่ายทุกมหาวิทยาลัยจัดตั้งศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. และมีงานศูนย์ส่วนลูกข่ายบางส่วนที่เป็นศูนย์ประสานงานอยู่แล้วสามารถดำเนินงานฝึกอบรมเพิ่มเติม

เป้าหมายและวัตถุประสงค์

๑. เพื่อสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
๒. เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.–มหาวิทยาลัยพะเยา ดำเนินงานประสานงานเพื่อขับเคลื่อนงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ. ทั้งภายในหน่วยงาน (ระหว่างคณะเชิงบูรณาการ) และระหว่างหน่วยงานภายนอก ในภาคเหนือตอนบน
๓. เป็นศูนย์ข้อมูล ๓ ฐานทรัพยากร ได้แก่ ฐานทรัพยากรกายภาพ ฐานทรัพยากรชีวภาพ และฐานทรัพยากรวัฒนธรรมภูมิปัญญา ในเขตภาคเหนือตอนบน
๔. เพื่อดำเนินงานจัดฝึกอบรมวิทยากรในงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน อพ.สธ. ดำเนินงานตามกรอบนโยบายในการช่วยสนับสนุน อพ.สธ. ขยายผลในการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรได้ต่อไป
๕. เพื่อดำเนินงานจัดฝึกอบรมวิทยากรในงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น อพ.สธ. ดำเนินการตามกรอบนโยบายในการช่วยสนับสนุน อพ.สธ. ขยายผลในการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรได้ต่อไป
๖. ใช้พันธกิจของมหาวิทยาลัยพะเยาเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่น

พันธกิจ

๑. สนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
๒. ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ในภาคเหนือตอนบน
๓. จัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่นในเขตภาคเหนือตอนบน
๔. อบรมครู เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรที่จะไปดำเนินงานสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรด้วยกระบวนการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน อพ.สธ.
๕. อบรมบุคลากรของ อปท. เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรที่จะไปดำเนินงานสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรด้วยกระบวนการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น อพ.สธ
๖. ใช้พันธกิจของมหาวิทยาลัยพะเยาด้านการเรียนการสอน งานวิจัย งานบริการวิชาการ และงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยื่น ในพื้นที่ อปท. เป้าหมาย และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฐานชีวภาพที่นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น

ข้อมูลติดต่อ

ศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยพะเยา (ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยพะเยา) สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา เลขที่ 19 หมู่ 2 ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา 56000 โทร. 0 5446 6666 ต่อ 3717 อีเมล upiti@up.ac.th (นายสมปอง ใจประเสริฐ)