สารสนเทศ อพ.สธ

บุคลากรและเจ้าหน้าที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity) กล่าวคือ มีความหลากหลายทางพันธุกรรม และความหลากหลายในชนิดพันธุ์และความหลากหลายในระบบนิเวศน์ ซึ่งพรรณไม้ที่ศึกษาพบไม่ต่ำกว่า 12,000 ชนิด เฟิร์น 633 ชนิด และกล้วยไม้มากกว่า 1,000 ชนิดพบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น (สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ,2544)

มหาวิทยาลัยพะเยา ตั้งอยู่ที่บริเวณตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ประกอบด้วยที่ดินจำนวน 5,727 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย จำนวน 1,147 ไร่ และที่ป่าสงวน มีสภาพเป็นป่าเต็งรังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง ภายใต้การกำกับดูแลของกรมป่าไม้ จำนวน 4,580 ไร่ ซึ่งขณะนี้ได้รับอนุญาตให้มหาวิทยาลัยใช้ประโยชน์เรียบร้อยแล้ว ในอดีตตำบลแม่กาพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าไม้และพื้นที่เกษตรกรรม เมื่อมหาวิทยาลัยพะเยามีการเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2542 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกรรมไปเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของคนกับป่าไม้เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตามพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยพะเยา ยังคงมีสภาพเป็นป่าอยู่ โดยส่วนใหญ่จะเป็นป่าผลัดใบ ได้แก่ ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ แต่ในระยะยาวสภาพพื้นป่าดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพของการเติบโตของชุมชนโดยรอบ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของป่าไม้ควรมีการศึกษาถึงการอนุรกษ์พันธุกรรมพืช ณ พื้นที่มหาวิทยาลัยพะเยา ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีการประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพิจารณาวางแผนดำเนินงาน ในการอนุรักษ์พรรณพืช และศึกษาชีวภาพต่าง ๆ ในพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืช เพื่อสร้างฐานองค์ความรู้ทางวิทยาการที่จะนำไปสู่การอนรักษ์และพัฒนา

ทั้งนี้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยพะเยา ได้ร่วมสนองพระราชดำริในการดำเนินงานกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 เนื่องจากในปีงบประมาณ 2550 คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยพะเยาได้เข้าร่วมศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืชเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ในหัวข้อวิจัยต่าง ๆ เช่น คุณสมบัติทางกายภาพ และเคมีของดิน การหมุนเวียนของแร่ธาตุอาหารในดิน ความหลากหลายของเห็ดและการใช้ประโยชน์ คุณภาพน้ำสำหรับการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ ความหลากหลายของแพลงก์ตอนพืช ความหลากหลายของแมลงน้ำ ความหลากหลายของปลา ความหลากหลายของแมลงในอันดับโคลีออฟธีรา การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่และการจัดทำฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ ความหลากหลายของพืชกลุ่มเฟิร์น และในปีต่อมา คณะนักวิจัยได้กำหนดเป้าหมายพื้นที่ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ บริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัยพะเยาบริเวณตำบลแม่กา โดยได้ดำเนินงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน